วิธีการสอนแบบโครงงาน (Project Design)
วิธีการสอนแบบโครงงาน ความหมาย คือ เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ค้นหาความสามารถ ความถนัด และความสนใจของตนเองในด้านต่างๆมาจากแนวคิดพื้นฐานของการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (ChildCenter) และการเรียนรู้ตามสภาพจริงโดยมีการศึกษาหลักการ และวิธีเกี่ยวกับโครงงานที่เลือกศึกษา วิเคราะห์ วางแผนการทำงาน ลงมือทำงานและปรับปรุง เพื่อให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์ ในกระบวนการเรียนการสอนได้ใช้ทักษะกระบวนการ สอดแทรกคุณธรรม ทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกปฏิบัติจริง เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม มีครูเป็นผู้ชี้แนะ ให้คำปรึกษาตลอดเวลา เน้นฝึกคนให้แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
ประโยชน์ของการจัดทำโครงงาน
1. ทำงานตามความถนัด ความสนใจของตนเอง
2. ฝึกทักษะกระบวนการทำงานด้วยตนเอง หรือร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม
3. สามารถวางแผนการทำงานเป็นระบบ
4. พัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
5. ศึกษา ค้นคว้า และแก้ปัญหาจากการทำงาน
6. เป็นสิ่งยืนยันว่าเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในโครงงานที่ทำจริง ในกรณีที่ต้องนำแสดงต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
ความหมายของโครงงาน
โครงงาน หมายถึง การกำหนดรูปแบบในการทำงานอย่างเป็นระเบียบ มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถผลิตชิ้นงาน / ผลงานที่สัมพันธ์กับหลักสูตรและนำไปใช้ประโยชน์กับชีวิตจริประเภทของโครงงานแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. ประเภทการศึกษาทดลอง เป็นการศึกษาเปรียบเทียบหรือพิสูจน์ความจริงตามหลักวิชาการอย่างเป็นเหตุเป็นผลหรือค้นหาข้อเท็จจริงในสิ่งที่ต้องการรู้ เช่น แสงมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช,อาหารพื้นบ้านกับการเจริญเติบโตของไก่
2. ประเภทสำรวจข้อมูล เป็นการสำรวจรวบรวมข้อมูลแล้วนำข้อมูลนั้น ๆ มาจำแนกเป็นหมวดหมู่ และนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนหรือพัฒนางาน หรือปรับปรุงงาน เช่น การสำรวจการขาดสารไอโอดีนในชุมชน, การสำรวจการเรียนต่อของเยาวชนอำเภอสำโรงทาบ ในปี 2542
3. ประเภทสิ่งประดิษฐ์ เป็นการผลิตชิ้นงานใหม่ และศึกษาคุณภาพ ประสิทธิภาพ ประโยชน์คุณค่าของชิ้นงานนั้น ๆ เช่น เครื่องฟักไข่,ระบบน้ำหยดเพื่องานเกษตรโดยใช้กระป๋องน้ำมันเครื่อง
4. ประเภทพัฒนาผลงาน เป็นการค้นคว้าหรือพัฒนาชิ้นงานให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น หรือมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การประดิษฐ์อุปกรณ์นับจำนวนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์,การประดิษฐ์เครื่องโรยขนมจีน
บทบาทของผู้เรียนการสอนแบบโครงงาน (Project Design)
1. โครงงาน
2. ศึกษาข้อมูล
3. วิเคราะห์ข้อมูล
4. ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
5. เขียนโครงงานวางแผนการทำงาน
6. ปฏิบัติตามโครงงาน
7. ประเมินผลโครงงาน
วิธีการสอนแบบ 4 MAT
ความหมาย4 MAT เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมุ่งส่งเสริมความถนัดของผู้เรียนและส่งเสริมการใช้สมอง 2 ซีกอย่างสมดุลกัน อันจะส่งผลให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพ และผู้เรียนได้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
ขั้นตอนการจัดกิจกรรม
ขั้นที่ 1 ขั้นนำเสนอประสบการณ์ที่มีความสัมพันธ์กับผู้เรียน (Experience) ขั้นตอนนี้เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจเรื่องที่เรียน ค้นพบเหตุผลของตนเองว่าทำไมต้องเรียนเรื่องนั้น (Why) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นย่อย ดังนี้
1.1 การเสริมสร้างประสบการณ์
1.2 การวิเคราะห์ประสบการณ์ที่ได้
ขั้นที่ 2 ขั้นเสนอเนื้อหาสาระข้อมูลแก่ผู้เรียน (Presentation) ขั้นนี้เป็นการเชื่อมโยงการเรียนรู้ขั้นที่ 1 มาสู่การสร้างความคิดรวบยอด เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่าสิ่งที่เรียนนั้นคืออะไร(What) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นย่อย ดังนี้
2.1 การบูรณาการประสบการณ์สร้างความคิดรวบยอด
2.2 การพัฒนาเป็นความคิดรวบยอด
ขั้นที่ 3 ขั้นฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาความคิดรวบยอด (Practice) เป็นการพัฒนาความคิดรวบยอดมาสู่การปฏิบัติจริง เพื่อหาคำตอบว่าจะทำได้อย่างไร (How) แบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นย่อย ดังนี้
3.1 การปฏิบัติงานตามขั้นตอน
3.2 การนำเสนอผลการปฏิบัติ
ขั้นที่ 4 ขั้นนำความคิดรวบยอดไปสู่การประยุกต์ใช้ (Application) เป็นกระบวนการเรียนรู้ทีเกิดจากการลงมือกระทำด้วยตนเอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าถ้าจะนำไปใช้ในชีวิตจริงแล้วจะเป็นอย่างไร (If) แบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นย่อย ดังนี้
4.1 การนำความรู้ไปประยุกธ์ใช้หรือการพัฒนางาน
4.2 การนำเสนอผลงานหรือการเผยแพร่
วิธีการสอนแบบร่วมมือ ( Cooperative Learning )
สเปนเซอร์ คาเกน (Spenser Kagan ) นักศึกษาชาวสหรัฐอเมริกา ได้ทำวิจัยและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือ ( Cooperative Learning ) อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 และได้เผยแพร่ผลงานอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาและในหลายประเทศใรแถบเอเชีย โดยมีการนำมาใช้ในการเรียนการสอนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์และได้นำเสนอแนวคิดหลักที่จะนำไปสู่การเรียนรู้แบบร่วมอย่างมีประสิทธิผลไว้ 6 ประการดังนี้
1) การจัดกลุ่ม(Teams) หมายถึง การจัดกลุ่มของผู้เรียนที่จะทำงานร่วมกัน กลุ่มที่จะเรียนรู้ด้วยกันอย่างมีประสิทธิผล ควรเป็นดังนี้
1.1) กลุ่มละ 4 คน ประกอบด้วยเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนสูง ปานกลาง ค่อนข้างต่ำ และหญิงชายเท่า ๆ กันในบางกรณีการจัดกลุ่มโดยวิธีอื่น เช่น ในการศึกษาเรื่องลึกเฉพาะ เช่น ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ควรจัดกลุ่มเด็กที่มีความสนใจเหมือนกัน หรือจัดกลุ่มโดยวิธีสุ่มเมื่อต้องการทบทวนความรู้
1.2) จัดให้เด็กอยู่ในกลุ่มเดียวกันประมาณ 6 สัปดาห์แล้วเปลี่ยนจัดกลุ่มใหม่
2) ความมุ่งมั่น(Will) หมายถึง ความมุ่งมั่นและอุดมการณ์ของเด็กที่จะร่วมงานกัน เด็กจะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และมีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ต้องสร้างให้เกิดขึ้นและให้คงไว้โดยให้ทำกิจกรรมหลากหลาย โดยวิธีการต่อไปนี้
2.1) Team building การสร้างความมุ่งมั่นของทีมที่จะทำงานร่วมกัน
2.2) Class building การสร้างความมุ่งมั่นของชั้นเรียนที่จะช่วยกัน
3) การจัดการ(Management) หมายถึง การจัดการเพื่อให้กลุ่มทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดการของผู้สอนและการจัดการของผู้เรียนภายในกลุ่ม ผู้สอนจะต้องมีการจัดการที่ดี เพื่อให้การทำงานกลุ่มประสบผลสำเร็จ เช่น การควบคุมเวลา การกำหนดสัญญาณให้ผู้เรียนหยุดกิจกรรม ฯลฯ
4) ทักษะทางสังคม(Social Skills) เป็นทักษะในการทำงานร่วมกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ให้ความช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน
5) กฎพื้นฐาน 4 ข้อ (Four Basic Principles : PIES) เป็นหลักการพื้นฐานของ Cooperative Learning ซึ่งจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ได้แก่
P = Positive Interdependence ผู้เรียนต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีแนวคิดที่ว่าเมื่อเราได้รับประโยชน์จากเพื่อน เพื่อนก็จะได้รับประโยชน์จากเรา ความสำเร็จของกลุ่มคือความสำเร็จของแต่ละคน
I = Individual Accountability ยอมรับว่าแต่ละคนในกลุ่มต่าง ๆ มีความสามารถและมีความสำคัญต่อกลุ่ม แต่ละคนมีส่วนให้การทำงานในกลุ่มสำเร็จ
E = Equal Participation ทุกคนในกลุ่มต้องให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในงานของกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน
S = Simultaneous Interaction ทุกคนในกลุ่มต้องมีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลาที่ทำงาน
6) รูปแบบของกิจกรรม(Structures) หมายถึง รูปแบบของกิจกรรมในการทำงานกลุ่ม ซึ่งมีหลากหลายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัญหาหรือสถานการณ์ที่จะศึกษา Kagan ได้วิจัยและเสนอไว้หลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น
Time – Pair – Share เป็นกิจกรรมจับคู่สลับกันพูดในหัวข้อและในเวลาที่กำหนด เช่น คนละ 1 นาที เมื่อคนหนึ่งพูด อีกคนหนึ่งฟัง แล้วสลับกัน
Round Robin ผู้เรียนในกลุ่มทั้ง 4 คน ผลัดกันพูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนครบทุกคน
Round Table ผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มเขียนแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในกระดาษแผ่นเดียวกันแล้ววนไปเรื่อย ๆ จนผู้เรียนทุกคนเขียนทั้งหมด แล้วนำมาสรุป
Team – Pair – Solo เป็นกิจกรรมที่ให้แต่ละคนในกลุ่มคิดแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งก่อนจากนั้นเปลี่ยนเป็นรวมกันคิดเป็นคู่ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนแต่ละคนเรียนรู้แบบการแก้ปัญหา ในที่สุดแต่ละคน
สามารถแก้ปัญหาทำนองเดียวกันได้
วิธีสอนแบบซิปปา (Cippa Model)
โมเดลซิปปา ( CIPPA Model ) หลักการจัดการเรียนการสอนโมเดลซิปปา เป็นหลักที่นำมาใช้จัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เสนอแนวคิดโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ทิศนา แขมมณี อาจารย์ประจำภาควิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีจุดเน้นที่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทั้งทางร่างกาย สติปัญญา สังคม และอารมณ์
หลักการจัดของโมเดลซิปปา มีองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่
1. C มาจากคำว่า Construct หมายถึง การสร้างความรู้ ตามแนวคิด การสรรค์สร้างความรู้ได้แก่ กิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสสร้างความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งทำให้ผู้เรียนเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อตนเองกิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสติปัญญา
2. I มาจากคำว่า Interaction หมายถึง การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ได้แก่ กิจกรรมที่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล เช่น ครู เพื่อน ผู้รู้ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เช่น แหล่งความรู้ และสื่อประเภทต่าง ๆ กิจกรรมนี้ ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสังคม
3. P มาจากคำว่า Physical Participation หมายถึง การมีส่วนร่วมทางกาย ได้แก่ กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนมีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะต่าง ๆ
4. P มาจากคำว่า Process Learning หมายถึง การเรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ ที่เป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ได้แก่ กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนทำเป็นขั้นตอนจนเกิดการเรียนรู้ ทั้งเนื้อหาและกระบวนการ กระบวนการที่นำมาจัดกิจกรรม เช่น กระบวนการคิด กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการกลุ่ม กระบวนการแสวงหาความรู้ เป็นต้น กิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสติปัญญา
5. A มาจากคำว่า Application หมายถึง การนำความรู้ที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้แก่ กิจกรรมที่ให้โอกาสผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน กิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ได้หลายอย่างแล้วแต่ลักษณะของกิจกรรม
วิธีการสอนแบบบูรณาการ
วิธีการสอนแบบบูรณาการ เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์-เดิมและประสบการณ์ใหม่ และเป็นประสบการณ์ตรงที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในวิชาการหลายๆแขนงในลักษณะสหวิทยาการโดยใช้กระบวนการเรียนรู้กระบวนการคิดกระบวนการแก้ปัญหาและกระบวนการแสวงหาความรู้ที่เชื่องโยงทั้งหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนรู้ตลอดจนแนวคิดขิงผู้เรียนเพื่อให้เกิดความรู้แบบองค์รวมเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน
วิธีการสอนแบบบูรณาการมีขั้นตอนในการสอนดังต่อไปนี้ (ชาตรี เกิดธรรม,2546,หน้า 99)
1. กำหนดหัวข้อสาระการเรียนรู้
2. กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้
3. กำหนดเนื้อหาของเรื่อง
4. กำหนดขอบเขตการเรียนรู้
5. ดำเนินกิจกรรม
6. ประเมินผล
วิธีการสอนแบบเล่าเรื่อง
การเรียนรู้แบบ Story line เป็นการสอนวิธีหนึ่งที่ฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตจริง ใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ไตร่ตรอง รวมทั้งกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อจะเป็นแนวทางในการตัดสินใจว่าควรทำ ไม่ควรทำ ควรเชื่อ ไม่ควรเชื่อ อันจะนำไปสู่การตัดสินใจ การแก้ปัญหา ตลอดจนการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สิ่งดีสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยการใช้หลักสูตรบูรณาการเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง การมีส่วนร่วมของผู้เรียนเอง ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนรู้คุณค่าและสร้างผลงานได้ผลการเรียนรู้มีความคงทน เป็นการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง วิธีดังกล่าวเป็นผลการค้นพบของสตีฟ เบลล์ และแซลลี่ ฮาร์ดเนส (Steve Bell and Sally Hardness) นักการศึกษาชาวสก็อต ซึ่งสตีฟเบลล์ เรียกว่า การจัดการเรียนรู้ที่เป็นสตอรี่ไลน์ (Story line approach) และยังเรียกว่าวิธีสตอรี่ไลน์ (Story line method)
วิธีสอนแบบสตอรีไลน์ เป็นวิธีที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จะมีการผูกเรื่องแต่ละตอนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเรียงลำดับเหตุการณ์ หรือที่เรียกว่า กำหนดเส้นทางเดินเรื่อง โดยใช้คำถามหลักเป็นตัวนำ สู่การให้ผู้เรียนทำกิจกรรมอย่างหลากหลาย เพื่อสร้างความรู้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนตามสภาพจริง ที่มีการบูรณาการระหว่างวิชา เพื่อเป้าหมายพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนทั้งตัว
ลักษณะเด่นของวิธีสอน
1.กำหนดเส้นทางการเดินเรื่อง (Storyline) และจัดเรียงเป็นตอนๆ (Episode) ด้วยการใช้คำถามหลัก (Key Questions) เป็นตัวกำหนดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้
2.เน้นการใช้กิจกรรม (Activity Based Approach) ให้สอดคล้องกับคำถามหลัก และเนื้อหาการผูกเรื่อง ซึ่งมีดังนี้
1) ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนมากที่สุด
2) ยึดกลุ่มเป็นแหล่งความรู้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน
3) ให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยเน้นกระบวนการควบคู่กับความรู้
4) เน้นการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
3.เน้นให้ผู้เรียนสร้าง (Construct) ความรู้ด้วยตนเอง โดยมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอย่างกระฉับกระเฉง เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย สามารถพัฒนาผู้เรียน ทั้งด้านสติปัญญา (Head) ด้านอารมณ์ เจตคติ (Heart) และด้านทักษะปฏิบัติ (Hands) เป็นวิธีสอนที่ให้อำนาจแก่ ผู้เรียน (Learner Empowerment) คือ ให้โอกาสสร้างความรู้หรือปรับแต่งโครงสร้างความรู้ด้วย ตนเองอย่างเป็นอิสระ และแสดงถึงกระบวนการในการได้มาซึ่งความรู้นั้นๆ รับผิดชอบต่อ ความรู้ที่สร้างขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Long Life Learning)
4.เป็นการเรียนตามสภาพจริง (Authentic Learning) มีการบูรณาการระหว่างวิชา (Integration)
5.มีเหตุการณ์ (Incidents) เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนได้แก้ไขปัญหาและเรียนรู้
6.แต่ละเรื่อง หรือแต่ละเหตุการณ์ที่กำหนด ต้องมีการระบุสิ่งต่อไปนี้ หรือมีองค์ประกอบต่อไปนี้
1) กำหนดฉาก โดยระบุสถานที่และเวลาโดยเฉพาะ
2) ตัวละคร อาจเป็นคนหรือเป็นสัตว์
3) วิถีการดำเนินชีวิตเพื่อใช้ศึกษา
4) ปัญหาที่รอการแก้ไข
วิธีสอนแบบปุจฉาวิสัชนา
วิธีการสอนแบบปุจฉาวิสัชนา หมายถึง วิธีสอนที่ใช้การถาม - ตอบ ระหว่างผู้สอนกับนักเรียน โดยผู้สอนเป็นผู้ถาม นักเรียนเป็นผู้ตอบ หรือนักเรียนเป็นผู้ถาม นักเรียนเป็นผู้ตอบ เพราะในการถาม - ตอบนี้ ผู้สอนจะไม่ตอบคำถามเอง แต่จะกระตุ้นเร้าหรือส่งเสริมให้นักเรียนช่วยกันตอบ เป็นวิธีทำให้นักเรียนเกิดปัญญาขึ้นในตนเอง คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น